วัดริมโขงหนองคาย
วัดศรีคุณเมือง

วัดศรีคุณเมือง

ที่ตั้งวัด

เลขที่ ๖๘๘ หมู่ ๕ บ้านศรีคุณเมือง ถนนมีชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

อุโบสถ 

รูปทรงเดิมเป็นศิลปะช่างญวนผสมศิลปะช่างท้องถิ่น ต่อมามีการบูรณะต่อเติมหลังคาทรงไทยแบบภาคกลาง และต่อเติมศาลาหลังคาปีกนกด้านหน้า

 

 

หลวงพ่อพระสุก (จำลอง)

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชนิดสำริด ศิลปะล้านช้าง ขนาดหน้าตักกว้าง ๙๑ เซนติเมตร สูง ๑๑๔ เซนติเมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ หลวงพ่อพระสุกองค์จริง จมอยู่ใต้แม่น้ำโขง บริเวณปากน้ำงึม อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

 

จารึกวัดศรีคุณเมือง

ปักอยู่หน้าอุโบสถ จารึกด้วยอักษรธรรม สร้างโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์อาณาจักรล้านช้าง เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๐๓ 

ประวัติวัด

ตามประวัติวัดกล่าวว่า เดิมชื่อว่า “วัดป่าขาว” เพราะมีตาผ้าขาว เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัด ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อตาผ้าขาว (กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, 2535) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดศรีคุณเมือง” โดยอาศัยชื่อของโยมอุปถัมภ์วัดด้วยดีมาตลอด คือ นางคูณ ทวีพาณิชย์ หลักฐานทางโบราณคดี ในจารึกวัดศรีคุณเมืองระบุว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเป็นผู้สร้าง โดยมีข้อความโดยสังเขปว่า “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้มาอุทิศที่นาจังหันให้แก่วัด และตอนท้ายได้มีการสาปแช่งผู้ถือเอาศาสนาสมบัติเหล่านั้น” (ไกรฤกษ์ ศิลาคม, 2560) จังหัน คือ ที่ดินสำหรับทำไร่ทำนาที่พระมหากษัตริย์ได้อุทิศถวายไว้เป็นศาสนสมบัติ เพื่อเก็บผลประโยชน์สำหรับบำรุงวัดและพระภิกษุในวัด รวมทั้งที่ดินและประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินเหล่านั้นจะเป็นสมบัติของวัดด้วย ตอนท้ายของศิลาจารึกมีการสาปแช่งผู้ถือเอาศาสนาสมบัติเหล่านั้นไว้ว่า หากกษัตริย์ในรุ่นต่อมา หรือผู้มีอำนาจใดก็ตามที่จะเพิกถอนกรรมสิทธิ์นั้น ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “…ท้าวมาลุนขุนมาใหม่หากมีโลภะตัณหามาก แลม้างพระราชอาชญาเสีย ให้มันไปไหม้ในอบาย (ทั้ง 4)…” (นวพรรณ ภัทรมูล, 2563)

          หากพิจารณาจากประวัติวัด อาจเป็นได้ว่า วัดนี้อาจสร้างมาก่อนสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เพราะจากประวัติวัดไม่ได้กล่าวถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเลย ภายหลังพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้มาบูรณะซ่อมแซมวัดนี้ จึงได้ทำศิลาจารึกไว้เป็นหลักฐาน อันแสดงให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

หลวงพ่อพระสุก (จำลอง)