วัดริมโขงหนองคาย
วัดศรีเมือง

วัดศรีเมือง

ที่ตั้งวัด
ถนนมีชัย ตำบลในเมือง อ.เมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

อุโบสถ 

อาคารทรงไทยประยุกต์แบบภาคกลาง สร้างบนอุโบสถหลังเดิมซึ่งเป็นศิลปะล้านช้าง ยังคงรูปแบบช่างล้านช้างไว้คือ วันแล่นและปราสาทที่ประดับบนสันหลังคา

 

 

หลวงพ่อศรีเมือง

หรือพระสัทธาธิกะ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ได้อัญเชิญมาจากวัดกลาง นครเวียงจันทน์ มาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดศรีเมือง

 

 

 

 

ศิลปกรรมกรงนก

พระไชยเชษฐา

เป็นอาคารทรงปราสาทขนาดเล็ก ยอดเป็นหลังคาลาดซ้อนกัน ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปนาคหรือมังกร มีซุ้มสี่ด้าน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒

พระไชยเชษฐา

เป็นพระพุทธรูปยืนปางเปิดโลก สร้างโดยพระไชยเชษฐาธิราช ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ทาสีทองทั้งองค์ พระกรสองข้างแนบลำพระองค์ ครองจีวรห่มคลุมปลายจีวรโค้ง พระหัตถ์ปรากฏรูปแบบศิลปกรรมพื้นถิ่นอิทธิพลล้านช้าง

 

 

จารึกวัดศรีเมือง

อยู่ด้านหน้าอุโบสถ เป็นศิลาจารึกพระไชยเชษฐา ซึ่งเคลื่อนย้ายมาจากวัดศิลาเลข ในเขตตำบลเวียงคุก จารึกมีใจความว่า สมเด็จพระไชยเชษฐาทรงโปรดให้พระยาพหลศึกซ้ายสร้างวัดศรีสุพรรณอารามใน พ.ศ. ๒๑๐๙

 

 

 

ประวัติวัด

ตามประวัติวัดกล่าวว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2100 โดยพระไชยเชษฐาธิราช ตำนานกล่าวว่า ก่อนที่พระองค์จะสร้างวัดนี้ขึ้นมานั้น พระองค์ได้ออกเสด็จประพาสป่า ได้พบนกเขาเผือก 1 ตัว ทรงพอพระทัยที่จะได้ จึงให้ข้าราชบริพารช่วยกันจับ แต่จับไม่ได้ พระองค์จึงทรงอธิษฐาน ขออนุญาตต่อเจ้าที่เจ้าป่า เทพาอารักษ์ในสถานที่นั้นว่า หากจับนกเขาเผือกได้สมดังเจตนา จะสร้างวัดและสร้างพระพุทธรูปยืนไว้เป็นอนุสรณ์ ณ ที่นี้ เมื่อพระองค์ได้ทรงอธิษฐานเรียบร้อยแล้ว ข้าราชบริพารก็จับนกเขาเผือกนั้นได้อย่างง่ายดาย ครั้นต่อมาพระองค์ได้ทรงสร้างวัดขึ้น ณ บริเวณหนองน้ำ ตามที่ได้ทรงอธิษฐานไว้ เรียกชื่อว่า “วัดเมืองหนอง” พร้อมกับพระพุทธรูปยืน 1 องค์ นามว่า “พระไชยเชฏฐา” ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2450 ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดศรีเมือง” (กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, 2535)

วัดศรีเมืองเป็นวัดเก่าแก่ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปประทับยืน มีนามว่า “พระไชยเชษฐา” และมีเจดีย์ทรงปราสาท (กู่) หรือกรงนกพระไชยเชษฐา เป็นอาคารทรงปราสาทขนาดเล็ก ที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ยอดเป็นหลังคาลาดซ้อนกัน ประดับด้วยปูนปั้นเป็นรูปนาคหรือมังกร มีซุ้มสี่ด้าน คล้ายคลึงกับปราสาทหรือกู่ของศิลปะล้านนามาก มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 (ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2563) ด้านหน้าอุโบสถมีศิลาจารึกพระไชยเชษฐา ซึ่งได้เคลื่อนย้ายมาจากวัดศิลาเลข ตำบลโพนสา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แม้ว่าประวัติการสร้างวัดจะมีเนื้อหาเชิงตำนานเข้ามาปะปนอยู่บ้าง แต่หลักฐานทางโบราณคดีที่มีอยู่ในวัดศรีเมือง ก็มีความสอดคล้องกับตำนานการสร้างวัด คือได้รับการทำนุบำรุงจากพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

 

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์

พิพิธภัณฑ์เจดีย์ พระธรรมไตรโลกาจารย์