วัดริมโขงหนองคาย
วัดหายโศก

วัดหายโศก

ที่ตั้งวัด

ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๐๘ ถนนหายโศก ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

อุโบสถ 

อุโบสถหลังเดิม (สิมญวน) ศิลปะช่างญวน ปัจจุบันใช้เป็นวิหารที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่หายโศก

 

 

พระเจ้าใหญ่หายโศก

พระพุทธรูปเก่าแก่ ปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้าง ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง

 

 

ศาลเจ้าแม่สองนาง

เป็นที่สถิตของเจ้าแม่สองนางอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ตั้งแต่อำเภอสังคมจนถึงจังหวัดบึงกาฬ

 

ประวัติวัด

วัดหายโศก สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ วัดหายโศก เดิมชื่อว่า วัดหนองไผ่ เมื่อครั้งสมัยเจ้ามหาอุปราชเพชรราช ในรัชกาลที่ ๔ ได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งที่วัดพระธาตุหลวง เวียงจันทน์ แล้วนำมาถวายเป็นพระประธานในสิมวัดบ้านหนองไผ่ ต่อมาวัดหายโศกได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า วัดภูมิซวย (ซวย หมายถึงลำห้วย) หลังจากที่บ้านหนองไผ่ได้สถาปนาให้เป็นเมืองหนองคายแล้ว เพื่อให้แตกต่างจากชื่อหมู่บ้าน

          ต่อมาในห้วงเวลาที่ดินแดนสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง ไทย-ลาว มีเหตุการณ์สงครามเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราว เป็นเหตุให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงมีการอพยพผู้คนครั้งใหญ่ข้ามมาอยู่ฝั่งไทยหลายละลอก แม่น้ำโขงเต็มไปด้วยซากศพ ล่องลอยมากับน้ำบ้าง ลอยมาติดที่ริมตลิ่งบ้าง ก่อให้เกิดโรคระบาดอย่างหนัก วัดภูมิซวยจึงเป็นที่พักชั่วคราวของผู้อพยพ เมื่อมีการตายเกิดขึ้นก็มีการปลงศพ หรือเผาศพในเชิงตะกอนกลางแจ้งในบริเวณวัด ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าช้า” โดยการประกอบพิธีเผาศพเสร็จก็เก็บกระดูกไปลอยอังคาร เหลือเก็บไว้บังสุกุลบ้างเล็กน้อย นอกนั้นนำไปลอยอังคาร วัดภูมิซวยจึงเป็นสถานที่พึ่งของผู้คนในยามทุกข์ใจ ไร้ที่อยู่อาศัย เมื่อเหตุการณ์สงครามสงบลง โรคระบาดทุเลาหายไปในที่สุด ผู้คนที่มาอาศัยอยู่ในวัดนึกถึงบุญคุณของวัด มีชีวิตอยู่ได้จนทุกวันนี้ ก็เพราะวัด จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า วัดหายโศก เพื่อให้เกิดเป็นมงคล ไม่โศกไม่เศร้า และหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ตั้งแต่นั้นมาวัดภูมิซวยจึงได้ชื่อใหม่ว่า วัดหายโศก มาจนถึงปัจจุบัน

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์