วัดพระธาตุหล้าหนอง
พระธาตุกลางน้ำ, พระธาตุหล้าหนอง (จำลอง)
ที่ตั้งวัด
ถนนริมโขงแม่น้ำโขง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย
ประวัติวัด
สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๘ ตามประชุมพงศาวดาร ภาค ๗๐ ได้บันทึกไว้ว่า พระธาตุหล้าหนองถูกแม่น้ำโขงกัดเซาะพังทลายลงเมื่อตอนเย็นวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙
ปีมะเมีย พุทธศักราช ๒๓๙๐ จุลศักราช ๑๒๐๙ หนังสืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุหล้าหนองว่า พระธาตุองค์นี้สร้างโดยพระอรหันต์ ๕ องค์ ซึ่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า คือ พระธาตุหัวเหน่า ๒๙ องค์ และพระธาตุเขี้ยวฝาง ๗ องค์ และพระธาตุฝ่าเท้าขวา ๙ องค์ มาจากประเทศอินเดีย เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในที่ ๔ แห่ง โดยนำพระธาตุฝ่าเท้าขวา ๙ องค์ ไปบรรจุไว้ที่พระธาตุเมืองลาหนองคาย (พระธาตุหล้าหนอง อำเภอเมืองหนองคาย) และกล่าวถึงการสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุฝ่าเท้าขวาว่า “พระมหาสังข วิชเถระได้นำพระบรมธาตุฝ่าเท้า ๙ องค์ ไปประดิษฐานที่เมืองลาหนองคาย น้าเลี้ยงพ่อนมพร้อมด้วยชาวเมือง สร้างอุโมงค์สำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุนั้นใต้พื้นแผ่นดิน ขนาดกว้างด้านละ ๒ วา ๒ ศอก สูง ๓ วา แล้วไปด้วยซะทายลาจีน จึงเอาแผ่นเงินอันบริสุทธิ์รองพื้น แล้วนำเอาพระบรมธาตุเข้าบรรจุไว้ในผอบทองคำ นำไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์นั้น” พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้เสด็จมาบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุหล้าหนอง เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๙ สันนิษฐานว่า องค์พระธาตุดั้งเดิมคงไม่สูงนัก เพราะในอุรังคนิทานกล่าวว่า กว้างด้านละ ๒ วา ๒ ศอก สูง ๓ วา เท่านั้น มีอุโมงค์ใต้พื้นดิน เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ คงมีการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้งแล้ว เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้มาบูรณะซ่อมแซม ได้สร้างเจดีย์ครอบก่ออิฐถือปูนฐานกว้าง ๑๕.๘๐ เมตร สูง ๓๓ เมตร ต่อมาแม่น้ำโขงได้ไหลกัดเซาะฝั่งขวาถึงมหาธาตุเจดีย์ จนทรุดเอียงและพังทลายลงในแม่น้ำโขง เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ พ.ศ. ๒๓๙๐
ปัจจุบัน ได้มีการสร้างพระธาตุหล้าหนองจำลองขึ้นไว้ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากพระธาตุหล้าหนององค์เดิม ซึ่งจมอยู่ใต้แม่น้ำโขงราว ๑๘๐ เมตร เนื้อที่โดยรอบองค์พระธาตุหล่าหนองจำลองมีประมาณ ๔ ไร่ ๓ งาน ๒๙ วา พระธาตุหล้าหนองจำลอง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีส่วนสูงตั้งแต่ฐานถึงปลายบัวยอดฉัตร ๑๕ เมตร ส่วนกว้าง ๑๐ x ๑๐ เมตร
พร่อมทั้งการเสริมสร้างเสถียรภาพตลิ่งและป้องกันการกัดเซาะตลิ่งตลอดความยาว ๑๙๔ เมตร และงานตกแต่งปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบ