วัดศรีษะเกษ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ในบันทึกพื้นสังกาสแผนที่เมืองหนองคาย ซึ่งแปลความจากอักษรธรรมอีสานในสังกาสที่ ๑๒๓๑ ได้กล่าวไว้ว่า ปีมะโรง เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำวัน๕ (น่าจะตรงกับจุลศักราช ๑๒๓๐ ซึ่งเป็นปีมะโรง เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ วันพฤหัสบดี ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๘ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๑) พระยาปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงรวบรวมมาตาภริยาบุตรทั้งปวงสร้างวัดนาค (วัดศรีษะเกษในปัจจุบัน) ขึ้น ครั้นต่อมา (สังกาสที่ ๑๒๓๔) พระยาปทุมเทวาภิบาลเจ้าเมืองหนองคาย เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันยิ่ง จึงมีศรัทธาสร้างพระพุทธรูปทองหล่อขึ้น ๑ องค์ ด้วยเงินและทองคำหนักแสนหนึ่ง งามบริสุทธิ์ เรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพระองค์แสน ต่อมาออกเสียงเพี้ยนเป็นหลวง พ่อพระแสง แล้วยกเข้าไปสถาปนาไว้ในพุทธสีมาวัดศรีษะเกษให้เป็นที่กราบไหว้แก่เทวดาและชาวหนองคายสืบมาฯ ได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ภายในวัดศรีษะเกษมีโบราณวัตถุที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุแล้ว ๑ รายการ คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๒- ๒๓ ชนิดสำริด ขนาดสูงรวมฐาน ๑๘๕ เซนติเมตร ตักกว้าง ๘๓ เซนติเมตร
ฐานสูง ๖๕.๕ เซนติเมตร มีจารึกอักษรธรรม ภาษาไทย ที่ฐานหน้ากระดานด้านหน้า จำนวน ๔ บรรทัด และพระพุทธรูปอีก ๓ รายการ คือ พระพุทธรูปสำริด ศิลปะล้านช้าง ที่ประกาศขึ้นทะเบียนไว้ แต่มิได้อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร